เพิ่มเติม

แว่นมองใกล้ (แว่นอ่านหนังสือ)

     ทำไมบางคนสามารถซื้อแว่นอ่านหนังสือสำเร็จตามร้านค้าทั่วไปใส่ได้ บางคนใส่ไม่ได้ อายุมากขึ้นประสิทธิภาพในการเพ่งมองระยะใกล้ของดวงตาจะค่อยๆ ลดลง (Presblyopia) จึงจำเป็นต้องใส่เลนส์บวก (Addition lens) ” เพิ่มเข้าไปเพื่อชดเชยการเพ่งในเเต่ละระยะการมอง ” (ใกล้และกลาง ระยะไกลดวงตาไม่จำเป็นต้องเพ่ง) ซึ่งเลนส์บวกโดยปกติจะใส่เพิ่มเท่ากันในตาทั้งสองและจะมีค่ามากหรือน้อยหลักๆขึ้นอยู่กับอายุและระยะที่ใช้สายตา

* ระยะใกล้และกลาง คือระยะ 30 cm – 5 m ระยะไกลคือระยะ 6 เมตรเป็นต้นไป

     การเเก้ไขค่าสายตาสำหรับมองใกล้ที่ถูกต้องและเหมาะสม ควรแก้ไขปัญหาการมองเห็นระยะไกลก่อนเสมอ เนื่องจาก

” ค่าสายตามองใกล้ เกิดจากค่าสายตามองไกลรวมกับค่า Add ที่ได้จากการตรวจ ” สำหรับบางท่านมองไกลปกติไม่มีค่าสายตาหรือค่าสายตาน้อยและไม่ซับซ้อน ประกอบกับอายุที่ยังไม่มาก เเว่นสำเร็จที่หาซื้อได้ทั่วไปจึงสามารถพอใส่มองระยะใกล้ได้แต่อาจใส่เเล้วไม่สบายตา

     แต่หากเมื่อไหร่ก็ตามค่าสายตาสองข้างต่างกัน มองไกลมีค่าสายตายาวหรือสั้นที่ไม่ได้ถูกแก้ไข หรือมีโรคทางตาบางอย่าง เช่น ต้อกระจก จะทำให้การเลือกซื้อแว่นมองใกล้สำเร็จทั่วไปทำได้ยาก ซื้อมาใส่แล้วแรกๆมองชัด สักพักเบลอ ใส่แล้วปวดตา ปวดหัว มองบางระยะชัดบางระยะไม่ชัด

     หากมีอาการดังกล่าวแนะนำให้ตรวจอย่างละเอียดและขอคำแนะนำกับผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดจาก

  • การไม่ได้เเก้ไขค่าสายตาอย่างถูกต้อง
  • มีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นกับดวงตา
  • ร่วมไปถึงการใช้เลนส์แว่นตาที่ผิดประเภท

     เมื่อได้รับการตรวจและคำแนะนำที่ถูกต้อง เหมาะสมจะทำให้ผู้สวมใส่แว่นใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

     บุญฑริก เลิศชัยธนากร นักทัศมาตร O.D.

ประเภทของเลนส์แว่นที่เหมาะกับแต่ละช่วงวัย

     เลนส์แว่นตามีหลากหลายประเภทซึ่งแต่ละประเภทมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ผู้สวมใส่สามารถเลือกให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานสายตาหรือปัญหาการมองเห็นได้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญตรวจวัดสายตาอย่างละเอียดและคอยให้คำเเนะนำที่เหมาะสม เพื่อให้ได้เเว่นตาที่สวมใส่สบายตาและมองเห็นได้อย่างชัดเจน

      ประเภทเลนส์ที่เหมาะกับวัยเด็ก-วัยก่อน 40 ปี

     เมื่ออายุยังน้อยดวงตาจะมีกำลังการเพ่งในการปรับโฟกัสให้ภาพคมชัดในแต่ละระยะอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและวัยรุ่นที่มีกำลังในการเพ่งที่สูง หากใช้สายตามองระยะใกล้นานๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะสายตาสั้นเทียม หากได้รับการแก้ไขที่ผิดวิธีจะส่งผลให้เกิดเป็นสายตาสั้นที่เเท้จริงและบางครั้งอาจส่งผลให้มีสภาวะตาเขร่วมด้วย ดังนั้นจึงมีเลนส์ประเภทต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาการมองเห็นในเเต่ละประเภท

  • เลนส์ชั้นเดียว : ใช้สำหรับมองเพียง 1 ระยะ โดยส่วนมากมักเลือกใช้ในคนที่อายุยังน้อย เนื่องจากมักมีปัญหาการมองระยะไกลเป็นหลัก เมื่อทำการตรวจวัดจึงตรวจที่ระยะไกลกว่า 6 เมตร (หากตรวจระยะที่น้อยกว่า 6 เมตรจะส่งผลให้ดวงตาเกิดการเพ่ง ค่าสายตาที่ได้ออกมาอาจไม่ถูกต้อง) ฉะนั้นแว่นที่ได้จะเป็นเเว่นที่ใช้สำหรับมองระยะไกล เมื่อไรก็ตามที่ใส่แว่นมองไกลมามองในระยะใกล้ ดวงตาจะเกิดการเพ่งเพื่อปรับโฟกัสให้ภาพชัด ยิ่งระยะใกล้มากดวงตายิ่งเพ่ง (เช่น อ่านหนังสือ เล่นมือถือ) เมื่อดวงตาเพ่งมากๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะเกิดอาการตาล้า ไม่สบายตา หรือเกิดเป็นภาวะสายตาสั้นเทียมได้
  • เลนส์ควบคุมสายตาสั้นในเด็ก : มีการใช้เทคโนโลยีพิเศษบนตัวเลนส์ เพื่อช่วยลดกำลังการเพ่งที่เกินความจำเป็นในเด็ก ทำให้ฉะลอการเกิดสายตาสั้นในเด็ก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจและวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญ และหมั่นติดตามแนวโน้มค่าสายตา
  • เลนส์ลดเมื่อยล้า : ถูกออกแบบพิเศษเพื่อช่วยลดการเพ่งของดวงตาขณะมองระยะใกล้ ทำให้สบายตามากขึ้นเมื่อต้องใช้สายตามองระยะใกล้นานๆ อีกทั้งเลนส์ลดเมื่อยล้ายังเหมาะกับคนที่เริ่มมีปัญหาการมองระยะใกล้ โดยมีอาการที่ระยะใกล้คือ แรกๆ มองชัด สักพักเบลอ ต้องพักสายตาอาการถึงดีขึ้น โดยอาการมักเป็นบ่อยๆ จนทำให้มีอาการปวดตา ปวดศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้มักพบในคนที่อายุเข้าใกล้ 40 ปี

** แม้เลนส์จะเป็นตัวช่วยที่ดี เเต่การได้พักสายตาเมื่อใช้งานสายตาหนักๆ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ควรทำควบคู่กับการใส่เเว่น เพื่อการมองเห็นที่ดีและความสบายตา

      เลนส์แว่นตามีหลากหลายประเภทซึ่งแต่ละประเภทมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ผู้สวมใส่สามารถเลือกให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานสายตาหรือปัญหาการมองเห็นได้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญตรวจวัดสายตาอย่างละเอียดและคอยให้คำเเนะนำที่เหมาะสม เพื่อให้ได้เเว่นตาที่สวมใส่สบายตาและมองเห็นได้อย่างชัดเจน

     ประเภทเลนส์ที่เหมาะกับวัย 40 ปีขึ้นไป

     อายุที่มากขึ้น (40 ปีขึ้นไป) กำลังการเพ่งในระยะใกล้ของดวงตาจะค่อยๆ ลดลง ดังนั้นจึงต้องมีเลนส์เข้ามาเพื่อชดเชยกำลังการเพ่งที่ลดลงในเเต่ละระยะการมองเพื่อทำให้ภาพคมชัด ซึ่งอาการที่มักพบคือ

  • มองใกล้ไม่ชัด
  • ถอยตัวห่างจากหน้าจอฯ หรือเมื่ออ่านหนังสือต้องยืดมือออกเพื่อทำให้ตัวอักษรชัด
  • ใส่แว่นเลนส์ชั้นเดียวตัวเดิมไม่สามารถใส่มองได้ทุกระยะ ไกลชัด แต่ ใกล้เบลอ ต้องคอยถอดแว่นเข้า – ออก
  • ไม่สบายตา ปวดศีรษะ

     เลนส์ที่แนะนำมีดังนี้

  • เลนส์ 2 ชั้น : เลนส์มีรอยต่อ สามารถใส่มองได้ 2 ระยะ ไกลกว่า 6 เมตร และใกล้ประมาณ 30-40 เซนติเมตร ระยะที่อยู่ในช่วง (50 เซนติเมตร – 5 เมตร) จะไม่ค่อยชัดหากตัวอักษรหรือวัตถุเล็ก
  • เลนส์ดีเกรสซีฟ : เลนส์ไร้รอยต่อ ขัดไล่ค่าสายตาด้วยเทคโนโลยีพิเศษ มองระยะใกล้และกลางสบายตากว่าเลนส์โปรเกรสซีฟ เหมาะกับการใส่ทำงานภายในอาคาร โต๊ะทำงาน ห้องประชุม ไม่สามารถใส่มองไกลกว่า 4 เมตรได้ มักเป็นเเว่นตัวที่ 2 ที่ใช้คู่กับโปรเกรสซีฟ
  • เลนส์โปรเกรสซีฟ : เลนส์ไร้รอยต่อ ขัดไล่ค่าสายตาด้วยเทคโนโลยีพิเศษ สามารถใส่มองได้ทุกระยะ สามารถใส่ทำงาน หรือใส่ขับรถได้ ไม่ต้องคอยถอดเเว่นเข้า-ออก

     ** ราคาจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัญหาการมองเห็น ค่าสายตา พฤติกรรมการใช้งานสายตา และแบรนด์เลนส์ สามาถเข้ามาสอบถามกับทางร้าน หรือทักข้อความเพจ ทางร้านยินดีให้คำเเนะนำค่ะ บุญฑริก เลิศชัยธนากร นักทัศนมาตร O.D.