ใส่แว่นค่าสายตาสั้นเกินจริง

ลูกค้าเพศชาย อายุ 33 ปี อาชีพ พนักงานบริษัทเอกชน

อาการ : ” ใส่แว่นเเล้วมึนไม่ค่อยสบายตา มองไกลเหมือนจะไม่ค่อยชัด บางครั้งใกล้ก็ไม่ชัด ยิ่งใช้สายตาหนักไกลก็ไม่ชัด ใกล้ก็ไม่ชัด กะพริบตาหรือพักสายตาจะดีขึ้น ตอนได้เเว่นใหม่ๆชัดมาก ใช้เวลาปรับตัวอยู่พักหนึ่ง”

ประวัติการใช้ยา : “ไม่มี”

ประวัติโรคทางตา/โรคประจำตัว : “ไม่มี “

พฤติกรรมการใช้สายตา : “ใช้คอมฯวันล่ะไม่ต่ำกว่า 10 ชม./วัน ว่างๆ เล่นกับแมวเพื่อเป็นการพักสายตา”

ประวัติการใช้แว่นตา/คอนแทคเลนส์ : “ใส่แว่นครั้งเเรกตอนเรียนจบมหาลัย จำค่าสายตาไม่ค่อยได้หรอกเเต่ก็มีเพิ่มบ้างลดบ้าง แว่นตัวปัจจุบันตัดมาได้น่าจะราวๆ 5-6เดือน เห็นคนวัดบอกว่าค่าสายตาสั้นเพิ่ม”

ค่าแว่นเดิม : ตาขวา -1.50 VA 20/20-2
ตาซ้าย -1.00 VA 20/20-1

ค่าสายตา
Auto : ตาขวา -1.25-0.25X175
ตาซ้าย -1.00-0.50X165

ระดับการมองเห็นตาเปล่า : ตาขวา 20/25
ตาซ้าย 20/25+2

ตรวจละเอียด : ตาขวา -1.00-0.25X180 VA 20/20
ตาซ้าย -0.50 VA 20/20

ค่าสายตาที่จ่าย : ตาขวา -1.00 VA 20/20
ตาซ้าย -0.50 VA 20/20

ตรวจความแม่นยำในการเพ่ง : BCC +0.75

สรุปผลการตรวจ
มีค่าสายตาสั้นร่วมกับเอียงเล็กน้อยในตาขวา แต่เมื่อจ่ายแว่นจึงนำค่าสายตาเอียงออกเพื่อทำให้ความคมชัดของภาพใกล้เคียงกันมากที่สุดระหว่างตาทั้งสองโดยที่ระดับการมองเห็นในตาเเต่ล่ะข้างยังคงอ่านชาร์ตทดสอบได้เท่าคนปกติ ตาข้างซ้ายมีเพียงค่าสายตาสั้น เมื่อเเก้ไขด้วยค่าสายตาใหม่ทำให้ระดับการมองเห็นยังดีเทียบเท่าคนปกติโดยไม่จำเป็นที่ต้องใส่แว่นที่มีค่าสายตาสั้นที่สูงเกินจริง
การใส่แว่นสายตาสั้นเกินจริง จะส่งผลให้ตาเพ่งเกินความจำเป็นเมื่อมองในเเต่ล่ะระยะและจะเพ่งมากขึ้นเมื่อมองระยะใกล้ ส่งผลให้เกิดอาการตาล้า ไม่สบายตา ปวดศีรษะ มองเดี๋ยวเบลอเดี๋ยวชัด ถอดเเว่นหรือพักสายตาเเล้วอาการดีขึ้น หากใส่แว่นผิดค่าสายตาในระยะยาวอาจทำให้มีปัญหากับการปรับตัวกับแว่นที่มีค่าสายตาที่ถูกต้อง และแาจจะมีปัญหาสายตายาวตามอายุได้เร็วกว่าคนปกติ
โดยปกติค่าสายตาจะเริ่มคงที่เมื่ออายุ 18-25 ปี หลังจากอายุนี้ไม่ควรมีการเพิ่มของค่าสายตาสั้นเเบบก้าวกระโดดเกิน -0.50 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตรวจและการให้ค่าสายตาของผู้ตรวจวัดสายตาเเว่นก่อนหน้า

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการใส่เเว่นค่าสายตาสั้นเกิดจริง

  • ตรวจในห้องที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ห้องตรวจมีความยาวไม่ถึง 6 เมตร ตรวจในห้องที่สว่างหรือมืดเกินไป
  • วิธีการตรวจที่ไม่ละเอียด ตรวจโดยใช้เพียงเครื่อง Auto ยิงแล้วเสียบเลนส์
  • ลูกค้าใช้สายตาระยะใกล้มาอย่างหนักตลอดทั้งวัน หรือควบคุมโรคประจำตัวได้ไม่ดี เช่น การคุมระดับนำ้ตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน

แนวทางการแก้ไขและคำแนะนำเพิ่มเติม
จ่ายแว่นแก้ไขปัญหามองไกลด้วยค่าสายตาที่ถูกต้องและเหมาะสม หมั่นพักสายตาทุกๆ 20 นาที เมื่อใช้สายตาระยะใกล้ อย่างน้อย 20 วินาที โดยการมองไกลกว่า 6 เมตร กะพริบตาบ่อยๆ ใส่แว่นตลอดเวลา ตรวจวัดสายตาทุกๆ 6 เดือน