3 ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับตัวกับแว่น

1.ขั้นตอนการตรวจ

การตรวจวัดค่าสายตามีความสำคัญ เพื่อให้ได้ค่าสายตาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อผู้สวมใส่มากที่สุด ดังนั้นควรเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนตรวจวัดสายตา และมองหาร้านแว่นตาที่น่าเชื่อถือ

2.แว่นที่ใส่ 

ควรนำแว่นเดิมที่ใส่มาด้วยทุกครั้งก่อนวัดค่าสายตาใหม่เพื่อดูค่าต่างๆบนตัวแว่น

1.) ค่าสายตา : ค่าสายตามีความซับซ้อน เช่น ค่าสายตาสั้นร่วมกับเอียงที่สูงมากๆ มีแค่ค่าสายตาเอียงอย่างเดียวแต่ค่อนข้างสูง หรือค่าสายตาสองข้างต่างกันมากๆ คนในกลุ่มนี้ในบางรายอาจรับค่าสายตาเต็มที่ตรวจไม่ได้อาจจะค่อยๆ เพิ่มค่าสายตา ร่วมกับการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา ผู้สวมใส่แว่นจึงควรเข้าใจถึงปัญหาและมาตามนัดเพื่อค่อยๆเพิ่มค่าสายตาและดูระดับการมองเห็น

2.) โครงสร้างเลนส์

  • Spheric lens : ไม่เหมาะกับค่าสายตาสูงๆ เพราะจะทำให้เมื่อเหลือบมองด้านข้าง หรือด้านล่าง ภาพไม่เป็นธรรมชาติ มีความบิดเบี้ยว
  • Aspheric lens : พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับค่าสายตาที่สูงขึ้น ทำให้ปรับตัวกับแว่นใหม่ได้ง่ายขึ้น ภาพด้านข้างเป็นธรรมชาติ มุมมองกว้าง
  • Double Aspheric lens : เป็นการขัดเลนส์สองด้านทำให้ตัวเลนส์มีความบางเเละน้ำหนักเบา รองรับค่าสายตาที่สูงมากๆ มุมมองกว้าง เป็นธรรมชาติ

บางครั้งการเปลี่ยนโครงสร้างก็มีผลต่อการปรับตัว เช่น บางคนเคยชินกับ Sphereric lens เมื่อเปลี่ยนมาใช้ Asphereic lens ที่มุมมองกว้าง ภาพบิดเบี้ยวด้านข้างน้อยลง จึงรู้สึกแปลกตา

3.) ประเภทเลนส์

  • Single lens : เลนส์ชั้นเดียว 1 ค่าสายตามองได้เพียง 1 ระยะ แต่สามารถใส่มองทุกระยะได้เนื่องจากตายังมีกำลังในการเพ่งคอยปรับโฟกัส แต่หากเมื่ออายุเข้าสู่ 40 ปีขึ้นไปกำลังการเพ่งเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพ จึงเริ่มไม่สามารถใส่เลนส์ชั้นเดียวมองทุกระยะได้ จำเป็นต้องพิจารณาเป็นเลนส์เฉพาะทาง
  • Bifocal lens : เลนส์สองชั้นมีรอยต่อ ใส่มองระยะไกลเเละใกล้ ใส่มองจอคอมฯ ไม่สะดวก ภาพกระโดดเมื่อเปลี่ยนระยะการมอง
  • Progressive lens : เลนส์แว่นมองได้ทุกระยะ ด้วยโครงสร้างเลนส์ที่ขัดไล่ค่าสายตา แต่ข้อเสียคือมีภาพบิดเบือนด้านข้าง
  • Degressaive lens : เลนส์ใส่ทำงานใช้มองระยะใกล้ และระยะไกลไม่เกิน 4 เมตร โครงสร้างคล้ายโปรแกรสซีฟ จึงมีภาพบิดเบือนด้านข้างเช่นเดียวกัน แต่มุมมองกว้างกว่า
  • Antifatique lens : เลนส์ลดอาการตาล้าจากการใช้งานสายตาระยะใกล้นานๆ เลนส์โครงสร้างพิเศษทำให้มีภาพบิดเบือน เเต่น้อยมากถ้าแทบกับโปรเกรสซีฟและดีเกรสซีฟ

     เลนส์แต่ละประเภทมีความเหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละแบบ มีโครงสร้างเฉพาะที่จำเป็นต้องปรับตัว เช่น บางคนอายุ 40 กว่า เดิมทีใส่แว่นมองไกลเป็นสายตาสั้น ใส่แว่นตลอดเวลา แต่เริ่มมีปัญหามองใกล้เมื่อใช้งานสายตาระยะใกล้นานๆ เเรกๆชัด พอผ่านไปสักพักเริ่มมัว และปวดศีรษะ มองไกลมัวมากขึ้นโดยเฉพาะตอนเย็นๆ เข้าใจว่าตัวเองมีค่าสายตาสั้นเพิ่ม เพราะไม่เข้าใจถึงปัญหาที่ตัวเองเป็น จึงเลือกที่จะตัดแว่น Single lens เหมือนเดิม แล้วได้แว่นตัวใหม่มาที่ค่าสายตาสั้นเพิ่ม เมื่อนำมาใส่อาการต่างๆ ก็ยังคงเป็นและเป็นหนักขึ้น เพราะเลือกใช้ชนิดเลนส์ผิดประเภท

4.) ค่าพารามิเตอร์บนเเว่น

  • ค่าจุดกึ่งกลางระหว่างตาดำ (PD)
  • ค่าความสูงจุดกึ่งกลางตาดำถึงขอบแว่นด้านล่าง (FH)
  • ค่าระยะห่างจากกระจกตาถึงผิวด้านหลังเลนส์ (CVD)
  • ค่าความโค้งหน้าแว่น (FFA)
  • ค่ามุมเทแว่น (Panto)

   หากค่าพารามิเตอร์ไม่ถูกต้องจะส่งผลต่อการมองที่ไม่สบายตา วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดคือการปรับดัดแว่นช่วย แต่หากรุนแรงมากอาจจะส่งผลทำให้ต้องเปลี่ยนเลนส์แล้วทำการวัดค่าพารามิเตอร์ใหม่

5.) พฤติกรรมการสวมใส่เเว่น

  • ใส่เป็นครั้งเเรก : หากค่าสายตาไม่สูงมากจะใช้เวลาไม่นานในการปรับตัว แต่หากค่าสายตาสูงและซับซ้อนอาจใช้เวลาปรับตัวที่นานขึ้นประมาณ 7-14 วัน ซึ่งความสามารถในการปรับตัวกับแว่นใหม่ในแต่ละคนไม่เท่ากัน
  • ใส่บางเวลา : หากเป็นแว่นแก้ไขปัญหามองไกลในคนที่อายุไม่เยอะแนะนำให้ใส่แว่นตลอดเวลา แต่ในคนที่เริ่มอายุ 40 ปีที่มีปัญหามองระยะใกล้ร่วมด้วยอาจจะมีอาการมึน ตาล้า เนื่องจากต้องคอยถอดแว่นเข้า-ออก จึงเป็นสาเหตุที่รู้สึกว่าแว่นใหม่ปรับตัวยาก ลูกค้าต้องเข้าใจก่อนว่าตัวเองมีปัญหาด้านการมองเห็นที่ซับซ้อนขึ้น การแก้ไขแบบเดิม เลนส์ประเภทเดิมอาจไม่ตอบโจทย์
  • ใส่หลังจากถอดคอนเทคเลนส์ : เนื่องจากการใส่คอนเทคเลนส์นานๆ มากกว่า 8 ชม./วัน และใส่เป็นประจำ ในระยะยาวสิ่งที่ตามมาคือ อาการตาแห้ง และค่าสายตาเอียงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการมองเห็น การที่ถอดคอนเทคเลนส์แล้วสวมแว่นทันทีอาจไม่ชัดในช่วงแรกเนื่องจากคอนเทคเลนส์กดกระจกตา อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเพื่อค่อยๆให้กระจกตาคืนรูปและทำให้การมองเห็นเป็นปกติ

     บางครั้งพฤติกรรมการสวมใส่แว่นก็ส่งผลต่อการปรับตัวกับแว่นใหม่ เนื่องจากบางคนมักสวมใส่ไม่ตลอดเวลาใส่ๆ ถอดๆ หรือบางครั้งมักใส่สลับกับแว่นเดิม ทำให้ไม่สามารถปรับตัวกับค่าสายตาใหม่ได้ วิธีแก้ไขคือเมื่อใส่เเว่นตัวใหม่ครั้งแรกหากมีอาการไม่สบายตา มึน ตึงๆ ตา ให้ถอดแว่นออกพักสัก 5 นาทีเเล้วกลับไปใส่ใหม่ทำซ้ำๆ จนกว่าจะชินและอาการต่างๆ ค่อยๆ ดีขึ้น โดยแต่ละคนใช้เวลาปรับตัวไม่เท่ากันแต่หากอาการไม่ดีขึ้นเลยและแย่ลงให้รีบปรึกษากับทางร้านแว่นเพื่อหาทางแก้ไข

3.ระบบการมองเห็น

ระบบการมองเห็น : มนุษย์จะเกิดการมองเห็นที่ดีได้ต้องอาศัย 4 ระบบหลัก หากระบบใดระบบหนึ่งทำงานผิดปกติจะส่งผลให้การมองเห็นแย่ลง

1. ระบบหักเหแสง (Refractive system)

      คือระบบที่จะทำให้ภาพโฟกัสเป็น 1 จุดและตกบริเณจุดรับภาพชัดบนจอตาพอดี หากระบบหักเหเเสงทำงานผิดปกติจะทำให้เห็นภาพไม่ชัด ภาพซ้อน เกิดเป็น สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยเลนส์ อาทิ แว่นตา คอนเทคเลนส์ หรือการผ่าตัด อาทิ การทำ lasik

2. ระบบประสาท (Sensory system)

     เมื่อได้รับสัญญาณกระเเสประสาทจากดวงตา สมองจะทำการประมวลผลแล้ววิเคราะห์สิ่งที่มองเห็นจึงทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ อีกทั้งระบบประสาทยังทำหน้าที่ในการส่งสัญญาประสาท ประสานงานระบบต่างๆ ทำให้ดวงตามีการเคลื่อนไหว ดวงตาจึงสามารถกรอกมองไปยังตำแหน่งต่างๆ รวมไปถึงกล้ามเนี้อมัดเล็กๆในตาจึงสามารถปรับโฟกัสเมื่อเปลี่ยนระยะการมอง ทำให้ภาพชัดทุกระยะการมอง

3. ระบบสั่งการ (Motor system)

     ระบบที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนี้อตา ถูกควบคุมโดยระบบประสาท * หากระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนี้อตาผิดปกติหรือกล้ามเนี้อตาผิดปกติจะทำให้เกิดสภาวะตาเขถาวรหรือเขซ้อนเร้น บางรายมีอาการเห็นภาพซ้อน ซึ่งปัญหาตาเขหรือการเห็นภาพซ้อนสามารถแก้ไขด้วยเลนส์แว่นและการบำบัดกล้ามเนื้อตาหากเป็นไม่รุนเเรง เเต่หากรุนเเรงอาจพิจารณาการผ่าตัดหรือฉีดสารบางอย่างโดยจักษุแพทย์

4. สุขภาพตา (Ocular health)

     สุขภาพของดวงตาที่ดีจะทำให้การมองเห็นดี เช่น ไม่มีเบาหวานขึ้นจอตา ไม่เป็นต้อกระจก ต้อหิน ต้อลม ต้อเนื้อ ตาไม่แห้ง ไม่มีความผิดปกติของดวงตา